บันทึกที่ท่านจะได้อ่านนี้เป็นบันทึกที่ผมเจอโดยบังเอิญ
ผมต้องขออนุญาตมายังเจ้าของบันทึกมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ ผมมิได้มีเจตนาจะละเมิดข้อเขียนของท่านแต่อย่างใด
แต่ในความเป็นจริงแล้วผมมีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ข้อมูลในอดีตของแม่สายให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษากัน
***บุญกุศลแห่งการเผยแพร่บันทึกฉบับนี้ผมขออุทิศให้กับคุณยายมา
เลียวสิริพงษ์ มารดาของคุณประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ผู้เขียนบันทึกอันทรงคุณค่านี้***
แม่สาย : บันทึกจากอดีต
โดย
ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์
1. เวียงของพระยาพรหม
แม่สายเป็นชื่อของอำเภอที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ชื่อนี้ได้มาจากชื่อแม่น้ำสายเล็ก
ๆ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในเขตประเทศพม่า แล้วไหลลงมาเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่เหนือถ้าผาจมไปจนถึงแม่น้ำรวกในเขตตำบลเกาะช้างทางตะวันออก
มีข้อสันนิษฐานว่า ชื่อเดิมของแม่น้ำนี้คือ แม่น้ำใส ซึ่งน่าเชื่อถือ
เพราะในอดีตแม่น้ำสายนี้ใสจนมองลงไปเห็นก้นแม่น้ำ
ย้อนหลังไปนับพันปี บริเวณที่เป็นย่านชุมชนของแม่สายทุกวันนี้เคยเป็นเวียงโบราณซึ่งมีชื่อแตกต่างกันตามกาลสมัยสองชื่อหรือสองเวียง
คือ เวียงสี่ทวง กับเวียงพางคำของพระยาพรหม
พระยาพรหม เป็นโอรสพระยาพังคราชเจ้าโยนก (อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสนปัจจุบัน)ซึ่งเสียเมืองให้ขอม
และต้องถูกเนรเทศมาอยู่ที่เวียงสี่ทวงที่ริมฝั่งแม่น้ำใส ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียงโยนก
พวกขอมยึดเวียงโยนกไว้ 19 ปี พระยาพรหมจึงยึดคืนได้ และทูลเชิญพระบิดากลับไปครองเวียงโยนกตามเดิม
ส่วนตนเองสร้างเวียงใหม่ทับ (บางส่วนของ) เวียงลัวะสี่ทวงและขนานนามว่า
เวียงพางคำ ตามชื่อช้างเผือกที่จับได้จากแม่น้ำโขง และใช้เป็นช้างคู่บารมีในการรบรุกไล่ขอมออกจากอาณาจักรโยนก
(โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือของ สงวน โชติสุขรัตน์ ,
2515)
เรื่องในย่อหน้าข้างบนนี้ ย่อจากตำนานสิงหนวัติ และตำนานโยนก ซึ่งมีเนื้อเรื่องใกล้เคียงกัน
แต่ศักราชต่างกันมาก คือประมาณ พ.ศ.900 เศษ กับพ.ศ.1400 เศษ
หลักฐานที่ยังมีเหลือถึงปัจจุบันซึ่งทำให้น่าเชื่อว่า พระยาพรหมและเวียงพางคำมีจริงตามตำนาน
คือ ซากกำแพงเมืองโบราณ ซึ่งปรากฏเป็นแนวชัดเป็นช่วง ๆ หลายช่วง เช่น
ทางฟากตะวันตกของ ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) มีที่หลังวัดเวียงพาน
หลังโรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา หลังโรงพยาบาลแม่สาย หลังวัดพรหมวิหารและสองด้านของสถานีใบยาสูบ
แม่สายคือด้านตะวันตกและด้านใต้ ฟากตะวันออกของถนนพหลโยธินมีคูน้ำลึกกับซากกำแพงเก่าที่ชัดเจนที่ด้านใต้ของบ้านป่ายาง
กับเศษเสี้ยวที่หลงเหลือ เป็นช่วง ๆ เป็นแนวไปจนถึงโรงฆ่าสัตว์ ส่วนด้านเหนือมีเหลือน้อยกว่าด้านอื่น
ๆ แต่ก็พอจะลากเส้นบอกแนวได้ว่าอยู่ระหว่างกำแพงวัดเวียงพานด้านเหนือกับโรงฆ่าสัตว์ทางตะวันออกของถนนพหลโยธิน
ชื่อเวียงพางคำไม่ปรากฏในตำนานหรือเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงหลัง
ๆ อีก เราจึงไม่ทราบความต่อเนื่องและอายุของเวียงนี้ว่ายืนยาวเพียงไรก่อนจะกลายเป็นเวียงร้าง
แล้วกลับมาเป็นชุมชนใหม่ที่มีชื่อใหม่ว่า แม่สาย ซึ่งเติบโตมาเป็นกิ่งอำเภอ
และอำเภอตามลำดับ
สิ่งที่เป็นเกียรติประวัติแก่วีรกรรมของพระยาพรหมให้อนุชนได้เห็นในปัจจุบันนี้คือ
ประติมากรรมรูปพระยาพรหมที่ศาลหลักเมือง หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย
2. จากกิ่งอำเภอถึงเทศบาลตำบล
แม่สายเป็นหมู่บ้านมาตั้งแต่ปีใดไม่ปรากฏ ทราบแต่ว่าชื่อหมู่บ้านแม่สายนี้มีมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ศ. 2475 เพราะเริ่มมีโรงเรียนประถมศึกษา (หรือโรงเรียนประชาบาลตามชื่อเก่า)
มาตั้งแต่ปี 2476 ซึ่งแสดงว่าต้องเป็นชุมชนมานานแล้ว จนมีประชากรมากพอที่จะตั้งโรงเรียนได้
ข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้ข้อหนึ่ง คือ
การอพยพคนจากลำพูนมาอยู่เชียงแสน
ในสมัยรัชกาลที่ห้า นั้น
คนที่มาส่วนมากเป็นลูกหลานชาวเมืองยองที่อพยพลงไปกับพระยากาวิละ
(สมัยรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ตามนโยบาย เก็บผักใส่ซ้า
เก็บข้าไส่เมือง ชาวไทยองเหล่านี้
มิได้อาศัยอยู่เฉพาะในเขตอำเภอเชียงแสนเท่านั้น
แต่กินอาณาบริเวณถึงเขตอำเภอแม่จันและแม่สายในปัจจุบันด้วย
โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย
จะมาอยู่ที่ตำบลเกาะช้างมากเป็นพิเศษ คนเหล่านี้เป็นชาวนา
ที่รู้จักสร้างระบบชลประทานเป็นอย่างดีมานาน
ตั้งแต่ก่อนมีอาณาจักรเชียงรุ่งของตนในอดีตแล้ว
การมาตั้งรกรากแถบลุ่มน้ำแม่สายตอนล่างกับแม่น้ำรวก
ทำให้มีการขุดลำเหมืองแดง
เพื่อชักน้ำจากแม่น้ำสายเข้านาตั้งแต่บ้านเหมืองแดงเป็นต้นไป
ปากเหมืองแดงที่หน้าถ้ำผาจม คือ หัวฝาย ของชาวนาฟากตะวันออก
ของถนนทั้งหมด
การดูแลฝายทำให้มีคนแวะเวียนมาบริเวณนี้อย่างสม่ำเสมอ
น่าเชื่อว่านี่เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งของการเกิดชุมชนริมฝั่งเหมืองแดงและ
แม่น้ำสายขึ้น
และชุมชนนั้นอาจจะอยู่ที่ตลาดแพร่ก่อน ต่อเมื่อนายบุญยืน
ศรีสมุทรเปิดตลาดขึ้นใหม่
ณ ที่ที่เป็นตลาดใหม่นี้จึงมีผู้คนมากขึ้นเป็นลำดับ
แม่สายมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ที่แยกจากอำเภอแม่จัน หรือ เชียงแสนหลวงเมื่อ
พ.ศ. 2481 โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นปลัดกิ่งอำเภอเป็นคนแรก แต่ปลัดกิ่งอำเภอคนสุดท้ายก่อนเป็นอำเภอน่าจะเป็น มหาแสง
มณวิฑูร ซึ่งภายหลังเป็นนักวิชาการด้านวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่ง เมื่อสงครามโลกระเบิดขึ้นและไทยเราจำต้องเป็น
พันธมิตรกับญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปี
2484 รัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
มีความคิดที่จะยึดเชียงตุงกลับคืนหลังจากที่เสียให้แก่อังกฤษไปในรัชกาลที่
5
เดิมรัฐเชียงตุงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเชียงใหม่และเชียงราย เนื่องจากเป็นเมืองของคนไทยซึ่งสร้างโดยพระยามังรายทั้งสามเมือง
การเสียเชียงตุงให้แก่อังกฤษจึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย รัฐบาลไทยส่งกองทหารขึ้นไปยึดเชียงตุงในปี
2485 โดยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาย ณ ที่ ๆ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำสายในปัจจุบันและทำถนนไปเชียงตุงเป็นระยะทางประมาณ
160 กิโลเมตร ทหารไทยยึดเชียงตุงได้และสถาปนาขึ้นเป็น สหรัฐไทยเดิม
เพื่อเตรียมผนวกเข้ากับประเทศไทยระหว่างที่ยึดครองเชียงตุง ทหารไทยได้นำวัฒนธรรมรำวงไปเผยแพร่ด้วยปัจจุบันนี้
เพลงรำวงไทยยังมีเหลืออยู่ในเชียงตุง และเมืองใกล้เคียงเป็นจำนวนไม่น้อย
เหตุการณ์นี้ ทำให้แม่สายมีความสำคัญขึ้นในช่วงสงคราม ในฐานะประตูสู่เชียงตุง
และถนนไปเชียงตุงที่ทหารช่างของไทยสร้างไว้เพิ่งได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
แต่ก็สร้างไม่เสร็จและเลิกไปกลางคันหลังจากชาวไทยผู้ข้ามไปรับเหมาสร้างถนนถูกฆาตกรรมเสียเมื่อเร็ว
ๆ นี้
สงครามมิได้ลงเอยด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น สะพานข้ามแม่น้ำสายถูกระเบิดของ
พันธมิตรพังพินาศ ทหารไทยต้องถอนทัพกลับ และเชียงตุงตกเป็นของอังกฤษตามเดิม
เหล็กโครงสร้างสะพานที่เหลือ บางอันเป็นที่นั่งชมทิวทัศน์ยามเย็นของผู้คนสองฟากแม่น้ำบน
หัวขัว (ซึ่งขาดด้วน) บางอันจมอยู่ในน้ำบางอันจมทรายที่งอกจากฝั่งตรงข้าม
และบางอันพาดเกยกับตลิ่ง
หลังสงคราม แม่สายเป็นเมืองค้าขายชายแดนที่สำคัญขึ้นจนมีผู้อพยพจากที่อื่นมาตั้งรกรากมากขึ้นเป็นลำดับ
(รวมทั้งครอบครัวของผู้เขียนด้วย) แม่สายเป็นกิ่งอำเภอได้สิบสองปี
ก็ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอในวันที่ 1 พฤษภาคม 2493 และมีนายอำเภอคนแรก
ชื่อนายสนั่น สุวิเศษศักดิ์ มาดำรงตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ปีนั้นเอง
ในปีเดียวกันนั้น
แม่สายก็ได้เป็นศูนย์รับผู้อพยพซึ่งเป็นทหารกองพล
93 จาก ยูนนาน ซึ่งพ่ายแพ้สงครามต่อคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน
แตกหนีเข้าพม่าและถูกพม่าผลักดันถอยร่นมาทางชายแดนด้านตะวันตกของอำเภอแม่
สายชาวแม่สายได้เห็นเครื่องบินพม่าทิ้งระเบิดลงบนสันเขาหลังตลาดแม่สายอยู่
นานนับสัปดาห์
ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจรับทหารจีนฮ้อมาเป็นประชากรรุ่นใหม่ของประเทศ
โดยจัดที่อยู่ให้ที่บ้านถ้ำ ทหารกองพล 93 เหล่านี้
คือบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีนฮ่อในบ้านถ้ำ
ตลาดใหม่หน้าอำเภอแม่สาย บ้านห้วยไคร้ และที่ดอยแม่สะลอง
อำเภอแม่จัน
(ปัจจุบันคืออำเภอแม่ฟ้าหลวง)
ซึ่งเป็นที่อยู่ใหม่ที่รัฐบาลไทยจัดสรรให้อีกแห่งหนึ่ง
อำเภอแม่สายในสองทศวรรษแรก มีเพียง 4 ตำบล คือตำบลแม่สาย ซึ่งอยู่รอบ
ๆ ตลาดแม่สายทั้งสองฟากถนน ตำบลเกาะช้างทางตะวันออก ตำบลโป่งผาใต้ตำบลแม่สาย
และตำบลห้วยไคร้ซึ่งอยู่ใต้ตำบลโป่งผาติดต่อกับอำเภอแม่จัน ดอยตุงอยู่ในเขตตำบลห้วยไคร้ทางตะวันตก
แต่ปัจจุบันนี้บริเวณดอยตุงทั้งหมดกับปริมณฑล ซึ่งรวมบางส่วนที่เคยเป็นของอำเภอแม่จันด้วยเช่น
แม่สะลอง หัวแม่คำ ได้เป็นอำเภอใหม่ของจังหวัดเชียงราย คืออำเภอแม่ฟ้าหลวง
ก่อนถึง พ.ศ. 2500 ตลาดแม่สายถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่
สองครั้งและฟากตรงข้ามถูกไฟไหม้หนึ่งครั้งในปี
2499
หลังจากนั้นเป็นต้นมาอาคารร้านค้าซึ่งส่วนมากเป็นเรือนไม้ก็ถูกแทนที่ด้วย
อาคารพาณิชที่ทำด้วยคอนกรีตและแม่สายเจริญเติบโตขึ้นเป็นเมืองเศรษฐกิจอย่าง
รวดเร็ว
ปัจจุบันนี้อำเภอแม่สายมี 8 ตำบล โดยแยกส่วนทางตะวันตกของตำบลแม่สายออกเป็นตำบลเวียงพางคำ
แยกส่วนทางใต้ของตำบลเกาะช้างออกเป็นตำบลศรีเมืองชุม แยกส่วนทางตะวันออกของตำบลโป่งผาออกเป็นตำบลบ้านด้าย
และแยกส่วนทางใต้ของตำบลโป่งผาออกเป็นตำบลโป่งงาม ทำให้ได้ตำบลใหม่อีก
4 ตำบล รวมกับ 4 ตำบลเดิมเป็น 8 ตำบล สำหรับตำบลแม่สายและตำบลเวียงพางคำ
ซึ่งมีประชากรหนาแน่น ได้มีการปกครองแบบใหม่เป็นเทศบาลตำบลแม่สายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
2542 มีนายไศลยนต์ ศรีสมุทร ทายาทนายบุญยืน ศรีสมุทรผู้ก่อตั้งตลาดแม่สาย
เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก และมีนายแพทย์วิชัย ทวีปวรเดช คนปัจจุบัน
3. 66 ปีของโรงเรียนบ้านแม่สาย
สถานศึกษาคือที่พัฒนาประชากรของชุมชน หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองปีเดียว
บ้านแม่สาย ซึ่งยังไม่ได้เป็นกิ่งอำเภอก็มีโรงเรียนประชาบาลโรงแรก
คือ โรงเรียนบ้านแม่สาย (สายศิลปะศาสตร์) ในปี 2476 มีนายอุ่ง วงศ์สถิตย์
เป็นครูใหญ่คนแรก
ผู้เขียนไม่ทราบว่า
อาคารเรียนเดิมหลังแรกสุดเป็นอย่างไร เพราะเมื่อผู้เขียนเข้าเรียนชั้นป.
1 ในปี 2493 นั้น เป็นอาคารใหม่
สองชั้นทำด้วยไม้มีมุขทางด้านเหนือ
ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นโถงบันได อีกครึ่งหนึ่งเป็นห้องพักครู
ห้องเรียนซึ่งอยู่ในแนวทิศเหนือและใต้
ทั้งสองชั้นเป็นห้องโถงโล่งกั้นเป็นห้องเรียนด้วยบานพับ
เวลากลางคืนบางคืน
ชั้นล่างกลายเป็นโรงหนังเก็บสตางค์ค่าดู
เพลงสุดท้ายที่ได้ฟังจากแผ่นเสียงก่อนหนังฉายมักจะเป็นเพลงจังหวะชีวิตของสุ
นทราภรณ์
ใต้ถุนโรงเรียนตรงหน้ามุขมักเป็นที่เล่นขายครัวของเด็กหญิงหรือเล่นป๊อกบ่าเดย(ฟาดลูกเดือย)
ของเด็กชาย ด้านข้างนอกใต้ถุนเป็นที่เล่นโช่งรูป (ทอยกอง) โช่งลูกกง
(ทอยกองกระสุนหนังสติ๊ก) โช่งสตางค์แดง (ทอยกองสตางค์) ของเด็กผู้ชายส่วนเด็กหญิงก็เล่นหมากเก็บหรือเกมอื่น
ๆ สนามใหญ่หน้าอาคารเรียนนั้นเป็นที่แข่งขันกีฬาและกรีฑาประจำปี นอกฤดูกีฬา
เป็นที่เล่น แนด (ไล่จับ) หลายแบบและการละเล่นอื่น ๆ เช่น ไม้ปึ้ด
(ไม้หึ่ง) ขี่ม้าชนกัน ขี่มาแย่งหมวก ฯลฯ กลางคืนบางคืนเป็นที่ฉายหนังกลางแปลง
ซึ่งส่วนมากเป็นรถโฆษณายาต่าง ๆ จึงถูกเรียกว่าหนังขายยา ด้านหลังโรงเรียนเป็นเชิงเขาที่ลาดสูงขึ้นมีต้นไม้หนาแน่น
มักเป็นที่สำหรับเด็กชายแบ่งพวกรบกันด้วย บอกถบ (อีโผละ) หรือยิงเครือผักตำลึงด้วยหนังว้อง
(ยางรัดของ) บางวันผู้เขียนกลับบ้านด้วยสารรูปที่ดูไม่ได้แถมมีรอยเครือผักตำลึงติดหน้าผากไปให้แม่ดุเอาอีกด้วย
ด้านเหนือของอาคารเรียน มีบ้านพักศึกษาธิการอำเภอกับบ้านพักข้าราชการด่านศุลกากรซึ่งเป็นครอบครัวของครูจันทร์เทิง
มีปาน ผู้ขับร้องเพลงไทยได้ไพเราะมาก หลังอาคารเรียนค่อนมาทางใต้
ภายหลังเป็นบ้านพักครอบครัวครูสิงห์คำและครูพรรณทิพา ไชยสุขอยู่ระยะหนึ่ง
ด้านใต้ตรงกับอาคารเป็นเพิงขายของซึ่งมีขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำแบบคนเมืองและอื่น
ๆ ด้านนี้อยู่ใกล้ประตูเหนือของตลาดแม่สาย ตรงมุมตลาดมีท้องร่อง สำหรับระบายน้ำที่ไหลลงมาจากดอยหลังตลาด
ท้องร่องนี้ผ่านสนามด้านใต้ของโรงเรียนไปลงท้องร่องหน้าโรงเรียนซึ่งขนานกับถนน
เวลาฝนตกท้องร่องหน้าโรงเรียนซึ่งขนานกับถนน เวลาฝนตกท้องร่องนี้จะเต็มไปด้วยน้ำใสไหลริน
ๆ เด็ก ๆ หลายคน รวมทั้งผู้เขียนด้วยชอบเดินลุยน้ำใส ๆ นี้เล่นเป็นประจำ
ผู้เขียนเป็นนักเรียนเลขประจำตัว 895
เรียนอยู่สามปีการศึกษาก็จบ
ป. 4 เพราะไม่ได้เรียนชั้นป. 3 เช่นเดียวกับเชียนฝา (ชวลิต)
เหมียงเกี้ยนและสมเกียรติระหว่างที่เรียนที่นี่
ครูใหญ่คือคุณครูอินสม วงศ์วัฒนา
ครูที่เคยสอนนอกจากที่กล่าวนามมาแล้ว
มีครูมัณฑนา สิงห์ปัน ครูบุปผา บูรณพรรค์ และครูบุญสม สิงห์ปัน
ครูที่ผู้เขียนมีความรู้สึกเสมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งคือ
ครูพรรทิพา ส่วนครูสิงห์คำ คือยอดนักกรีฑาที่ผู้เขียนยกย่องมาก
ผู้เขียนยังจำความตื่นเต้นได้จากการได้ชมการแข่งขันวิ่งขึ้นยอดดอยเวา
ซึ่งครูสิงห์คำเอาชนะลุงย้อยไปรษณีย์ตัวเต็งได้อย่างน่าอัศจรรย์
นอกจากนี้ครูสิงห์คำ
ยังเป็นนักกระโดดค้ำถ่อที่หาคู่แข่งได้ยากติดต่อกันหลายปีทีเดียว
สำหรับครูจันทร์เทิงนั้น คือผู้เปิดโลกแห่งร้อยกรองไทย
(โคลงและกลอน)
ให้ผู้เขียนได้ซึมซับรับรู้ในความงามของศาสตร์และศิลป์แห่งภาษาไทยมาตั้งแต่
ชั้น
ป. 2 ในวิชาคัดไทยและขับร้อง
คุณครูผู้ปรากฎนามข้างต้น คือปฐมครูของครูอีกหลายคนในกาลต่อมาคือผู้ให้ความรู้พื้นฐานของผู้ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตน
(เช่น เสน่ห์ ชีนาเรียน อดีตผู้อำนวยการประถมศึกษาอำเภอของเชียงราย
เป็นต้น) รวมทั้งผู้ที่เป็นดีมีฮ่างของแม่สายอีกจำนวนไม่น้อย
การเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคาดหมายความเจริญทางการค้าขายมาก ทำให้โรงเรียนบ้านแม่สายถูกย้ายไป
อยู่ในหุบเขาระหว่างวัดวิปัสนากับวัดเวียงพาน สถานที่เดิมถูกสร้างตลาดขึ้นแทน
แต่ตลาดก็ไม่เติบโตแม้จนทุกวันนี้ก็ยังดูหงอยเหงา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าที่ทำไปนั้นคุ้มค่าดีแล้วหรือไม่
ปี 2542
โครงสร้างการบริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ
กระทรวงศึกษาธิการได้ทำให้โรงเรียนบ้านแม่สายต้องเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียน
อนุบาลแม่สายไปเหลือเพียง
สายศิลปะศาสตร์ไว้ในวงเล็บปิดฉากบทบาท 66
ปีภายใต้ชื่อเดิมของสถานศึกษาซึ่งศิษย์เก่าอย่างน้อยก็คนหนึ่งจำได้เสมอว่า
เป็นสถานที่ที่เขานั่งกับพื้น
ใช้ลังสบู่แทนโต๊ะเขียนอักษรไทยได้ครบ 44 ตัวเป็นครั้งแรกในชีวิต
วันนี้โรงเรียนบ้านแม่สาย (เก่า)
นอกจากไม่มีหลักฐานทางวัตถุเหลือไว้ให้แก่นักเรียนรุ่นเก่าแก่แล้ว
แม้แต่ชื่อโรงเรียนก็ยังแทบไม่เหลือบันทึกนี้
จึงขอทำหน้าที่หลักฐานดังกล่าว
4. โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา
แม่สายมีโรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาเกือบครบครึ่งศตวรรษอยู่โรงหนึ่งคือ
โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยาของตระกูลไชยดวง โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อ
พ.ศ.2499 โดยมี ครูแม่จินดา ไชยดวง เป็นผู้จัดการ และครูทูล จงตรองเป็นครูใหญ่คนแรกปัจจุบันนี้มีอาจารย์ใหญ่ชื่อ
ดอน ไชยดวง บริหารโรงเรียนต่อจากอาจารย์ดิเรก ไชยดวง ผู้เป็นบิดา
โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา
ให้การศึกษาแก่ชาวแม่สายและตำบลใกล้เคียง
เคียงคู่มากับโรงเรียนบ้านแม่สายและโรงเรียนแม่สาย
ซึ่งเปิดสอนระดับประถมปลาย
อยู่ระยะหนึ่งก่อนจะกลายเป็นโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์แบบ
ชื่อโรงเรียนแม่สายประสิทธ์ศาสตร์ในปี
2512 บุคคลสำคัญของอำเภอแม่สายหลายคน
เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา
เช่น นายกเทศมนตรี ไศลยนต์ ศรีสมุทร
ผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอสุทัศน์
พัทธยากร และ พ.ต.ท. ศรียนต์ ปัญจขันธ์ เป็นต้น
นับว่าโรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยามีบทบาทที่สำคัญไม่น้อยเลยในการพัฒนาทรัพยากร
บุคคลของอำเภอแม่สาย
หลวงพ่อตี๋ พระครูพิทักษ์พรหมวิหาร |
5. หลวงพ่อตี๋
หลวงพ่อตี๋ สุวณณโชโต หรือ พระครูพิทักษ์พรหมวิหาร เจ้าอาวาสวัดพรหมวิหารซึ่งเพิ่งถึงแก่มรณภาพไปเมื่อ
6 มีนาคม 2542 นี้ เป็นผู้หนึ่งที่ได้สร้างคุณูปการแก่ชาวแม่สายมาก
ท่านมาอยู่แม่สายในฐานะพระธุดงค์มาพำนักที่วัดป่าริมกำแพงเวียงเก่าด้านตะวันตกหลังที่ว่าการอำเภอแม่สายหลัง
พ.ศ.2500 ไม่กี่ปี และค่อยพัฒนาสำนักขึ้นตามลำดับจนได้เป็นวัดพรหมวิหารในปี
2514 ส่วนตัวหลวงพ่อเองนั้นได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท
ที่พระครูพิทักษ์พรหมวิหาร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2522 และเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่พระครูพิทักษ์พรหมวิหาร
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2537
หลวงพ่อตี๋เป็นพระนักปฏิบัติและนักพัฒนา
ผู้มีเมตตาจิตสูงหลักฐานสำคัญที่แสดงเมตตาธรรมของท่านที่ชาวแม่สายตระหนักดี
คือ การเป็นผู้นำและริเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลแม่สาย
ซึ่งได้ช่วยบำบัดทุกข์จากความเจ็บไข้และช่วยชีวิตชาวแม่สายมานับไม่ถ้วนแล้ว
เรื่องที่สองที่ท่านทำอย่างไรไม่กระโตกกระตากคือ
การสนับสนุนการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสที่มีศักยภาพพอที่จะเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง
ท่านให้ทุนการศึกษาแก่ศิษย์ยานุศิษย์จนสำเร็จการศึกษาชั้นสูงมาหลายราย
และเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กยากจนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ วัดด้วย
ที่โรงเรียนนี้นอกจากไม่เสียค่าใช้จ่ายใด
ๆ แล้ว เด็ก ๆ
ยังได้รับเครื่องเขียนแบบเรียนอาหารกลางวันและการดูแลสุขภาพด้วย
แม้แต่ครูทางวัดก็จ้างเองในทศวรรษสุดท้ายของชีวิตของท่าน
หลวงพ่อตี๋รับภาระมากขึ้นในการหางบประมาณมารองรับค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียน
ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนมีปัญหาต่อสุขภาพของท่าน
การเป็นพระที่มีแต่ให้ ผู้คิดและทำเพื่อช่วยผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือทำให้หลวงพ่อตี๋เป็นที่เคารพรักและศรัทธาของชาวแม่สาย
และชาวต่างจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งมักเป็นลูกศิษย์ของท่านแบบครอบครัวก็ว่าได้
6. ทศวรรษแห่งปอยปางวาด
ความจริงปอยปางวาดไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแม่สาย แต่ต้องนำมาผนวกไว้ด้วย
เพราะชาวแม่สายรุ่นก่อนได้เกี่ยวข้องและได้รับอิทธิพลบางอย่างจากปอยปางวาดพอสมควร
ปอยปางวาดเป็นงานประจำปีของพม่าซึ่งจัดขึ้นหลัง
จากได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่
4 มกราคม 2491
อังกฤษได้ฝากรัฐฉานของชาวไทยใหญ่ให้พม่าดูแลเป็นเวลา
10 ปี (เช่นเดียวกับรัฐอื่น ๆ ยกเว้นรัฐของชาวกระเหรี่ยง)
แล้วจึงค่อยให้รัฐเหล่านั้นเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ภายหลังสนธิสัญญากับอังกฤษ
และพม่า
ดังกล่าวกระทำที่เมืองปางหลวง (ป๋างโหลง) ทางเหนือของรัฐฉาน
การฉลองเอกราชที่จัดในรัฐฉานนั้น ที่เมืองตองยีซึ่งเป็นเมืองหลวงจะจัดอย่างไร
ไม่ทราบแต่ที่อำเภอท่าขี้เหล็กของรัฐเชียงตุงฝั่งตรงข้ามกับแม่สายนั้น
จัดในรูปของการเปิดบ่อนการพนันซึ่งเริ่มตั้งแต่วันปีใหม่หรือก่อนนั้นเล็กน้อยไปจนถึง
หรือเลยวันที่ 4 มกราคม ซึ่งเป็นวันชาติพม่างานฉลองนี้ เรียกว่า ปอยปางวาด
ในบริเวณบ่อนซึ่งเป็นเพิงใหญ่เรียงรายกันบนพื้นที่เล็ก ๆ เชิงเขาฝั่งตรงข้ามกับย่านการค้าในปัจจุบัน
มีการพนันของจีน พม่า และไทยใหญ่หลายชนิด ทั้งประเภทไพ่ผ่องจีน จับยี่กี
ถั่ว ของไทยใหญ่ ได้แก่ มะโขกโหลก ซึ่งใช้ลูกเต๋าทั้งหกหน้า เช่น
น้ำเต้า ปู ปลา ผีเสื้อ เสือ นก หรืออย่างอื่นก็ได้แต่ต้องเหมือนกันทั้งสามลูก
เล่นด้วยวิธีครอบและเขย่าเหมือน ไฮโล ในบ้านเราบางเจ้าใช้ลูกเต๋าขนาดใหญ่มากสามลูกวางบนกระดานเอียงมีไม้ยาวคั่นเป็นระยะ
ๆ สำหรับปล่อยลูกเต๋ากลิ้งลงมาสะดุดและพลิกหลายตลบก่อนกระบะที่รองรับข้างล่างส่วนของพม่ามี
โปปั่น ซึ่งมีสี่หน้ามีรูปสัตว์หน้าละรูปคือ ไก่ ปลาไหล หมูและกบ
ชาวแม่สายรู้จักโปปั่นชนิดนี้ในนาม แจ๊กกะเล้ ซึ่งเป็นคำที่ใกล้กับคำพม่าที่แปลว่า
ไก่ เวลาที่หน้ารูปไก่หงายขึ้น ทั้งเจ้ามือและคนแทงจะร้อง แจ๊กกะเล้
ดังลั่นจนทำให้คำนี้กลายเป็นชื่อเรียกเกมการพนันชนิดนี้ ถึงแม้รูปสัตว์อื่น
ๆ จะมีชื่อพม่าด้วยว่า งาชิ่น (ปลาไหล) เว็ดก้ง (หมู) และ พากะเล
(กบ) คนก็ไม่นิยมใช้ชื่ออื่นเรียกเกมนี้ ยกเว้นคนที่เล่นเสียบางคนอาจจะใช้คำว่า
ปัดแก้ม แทนเว็ดก้ง ก็ได้
นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอย่างอื่น ๆ อีกบ้าง โดยไม่มีรัมมี่ บริดจ์
เก้าเก หรือ ป๊อกเด้ง การพนันในปอยปางวาดนั้น คนไทยจะได้เล่นก็เฉพาะคนที่ข้ามฟากไปยังบ่อนเท่านั้น
ว่ากันว่าพอดึกเจ้ามือจะเฮง ทำให้อากาศซึ่งหนาวมากอยู่แล้วยิ่งหนาวแสนสาหัสสำหรับบางคนที่หมดตัว
คนที่ไปเล่นแล้วเสียกลับมาหลายต่อหลายคนเลยเรียกปอยปางวาดด้วยชื่อใหม่เป็นปอยปางวาดก็มี
การพนันที่ชาวแม่สายมีโอกาสได้เล่นมากกว่าโดยไม่
จำกัดเพศ วัยฐานะและอาชีพคือมะก่องถี่
คำนี้เป็นคำพม่าที่ใช้เรียกหวยชนิดหนึ่งซึ่งใช้รูปคน สัตว์
และสิ่งของ
พร้อมกับเบอร์ประจำตัวรวม 36 เบอร์เป็นตัวหวย
บางทีมีผู้เรียกหวยนี้ว่าสามสิบหกเมืองหลวง
ตามจำนวนเบอร์ ผู้เป็นเจ้ามือที่มีชื่อเสียงจนเป็นตำนานได้แก่
เจ้าฟ้าเชียงตุง
กับชาวจีนชื่อ เม่งหลี แต่ละงวดเจ้ามือจะเลือกรูป
รูปหนึ่งใส่ตลับห่อผ้าอย่างมิดชิด
ชักรอกขึ้นไปบนปลายเสาหน้าโรงรับแทง
แล้วเขียนข้อความเป็นปริศนาและบอกใบ้แจกจ่ายไปให้ลูกค้านำไปขบคิดก่อนแทง
ปริศนาดังกล่าวมีชื่อตามภาษาถิ่นว่า
ปัญหาคำบอกใบ้มักอยู่ที่ประโยคสุดท้าย
โดยขึ้นต้นว่า ปัญหาดูที่.....คนที่แทงถูกจะได้รับเงิน 27
เท่าของเงินที่แทง
การขายหวยมะก่องถี่ในแม่สายใช้วิธีจ้างคนเดินโพยโดยหักค่าจ้างจากยอดเงินที่
ลูกค้าแทงร้อยละ
20 ทั้งนี้ เจ้ามือมักเป็นชาวแม่สายเอง
แต่อาศัยหวยและปัญหาของเจ้ามือทางฝั่งท่าขี้เหล็ก(เหมือนเจ้ามือหวยใต้ดิน
อาศัยสลากกินแบ่งรัฐบาล)
ตัวหวยทั้งสามสิบตัวนั้น มี คู่มิตร หรือ คู่หู ตัวแทน ซึ่งเรียกว่า
คู่จะแหล่ ทำให้ตัวหวยมีสิบแปดคู่ บางทีปัญหาทำให้คนแทงมั่นใจว่าตัวหวยคือตัวใดตัวหนึ่ง
เช่น สมมุติว่าเราตีปัญหาแล้วสรุปว่า หวยน่าจะออก ม้า (เบอร์ 13)
แต่หวยจริง ๆ อาจจะออก นกยูง (เบอร์ 26) ซึ่งเป็นคู่จะแหล่ของม้าก็ได้นักแทงมะก่องถี่จำนวนไม่น้อยนิยมแทงหวยเป็นคู่
ๆ มากกว่าแทงเบอร์เดียวโดด ๆ เพื่อกันผิดหวัง
บางปี ปอยปางวาดที่ท่าขี้เหล็กเลิกไปแล้ว แต่เจ้ามือมะก่องถี่ยังต่อระยะเวลาเล่นมะก่องถี่
ออกไปอีกเป็นเวลาหนึ่งหรือสองสัปดาห์หรือนานกว่านั้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นข่าวดีสำหรับชาวแม่สายจำนวนไม่น้อยเสียด้วย
ปอยปางวาดที่ท่าขี้เหล็กเปิดเป็นปีสุดท้ายเมื่อต้นปี 2505 ก็เลิกไปจนกระทั่งบัดนี้เนื่องจากนายพลเนวินปฎิวัติด้วยกำลัง
ผนวกเอารัฐต่าง ๆ ที่อังกฤษฝากไว้รวมเข้ากับพม่าเป็นสหภาพพม่า และนี่คือมูลเหตุของความพยายามปลดแอกของชาวกระเหรี่ยง
และการก่อตั้งกองทัพหนุ่มศึกหาญของชาวไทยใหญ่นับแต่บัดนั้น
แม้ไม่มีปอยปางวาด
ชาวแม่สายก็ยังมีมะก่องถี่เล่นเป็นระยะ ๆ
หลังจากนั้นอีกนับสิบปีโดยมีคนตั้งตัวเป็นเจ้ามือ
(ซึ่งชาวแม่สายให้ฉายาว่าเจ้าฟ้า) ก่อนที่มะก่องถี่จะค่อย ๆ
จางหายไปตามกาลเวลาเป็นการปิดท้ายสองทศวรรษที่ชาวแม่สายได้รับประสบการณ์ที่
แตกต่างจากชาวไทยในภูมิภาคอื่น
ๆ
ทุกวันนี้ชาวแม่สายวัยอาวุโสที่เคยเกี่ยวข้องกับมะก่องถี่ก็จะให้หมายเลข
ประจำตัวของสัตว์นั้นเป็นเลขเด็ดสำหรับซื้อสลากกินแบ่ง
(หรือกินรวบ) เป็นต้น
7. การคมนาคม
“ ระยะทางแปดร้อยเก้าสิบหกกิโล
ไกลอักโขจากกรุงเทพถึงเมืองแม่สาย
” ตามคำร้องของเพลง ๆ หนึ่งนั้น คือระยะความยาวของถนนพหลโยธิน
ซึ่งเคยเป็นถนนที่ยาวที่สุดของประเทศไทย
ก่อนจะเสียตำแหน่งให้แก่ ถนนเพชรเกษม (สายใต้)
ถนนพหลโยธินนี้คือทางหลวงสายหลักที่พาคนจากทางใต้
ขึ้นมาชนชายแดนเหนือสุดที่แม่สาย ก่อนและหลัง พ.ศ.2500
ถนนนี้กว้างไม่ถึงสี่เมตรลาดยางบ้าง
ขรุขระบ้าง แล้วแต่เหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น อยู่ในที่ลุ่ม
ถูกน้ำท่วมบ่อย
หรืออยู่ในเขตปลูกข้าว ถูกล้อเกวียนบดทับบ่อยจนเป็นร่องลึก
รถโดยสารที่วิ่งรับส่งคนไปมาระหว่างแม่สายและเชียงรายเป็นประจำ
จะวิ่งไปกลับได้วันละเที่ยวเดียวเท่านั้นเพราะต้องจอดบ่อย
และจอดพักที่แม่จันนานไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงเพื่อรอให้ผู้โดยสารเต็มหรือ
ใกล้เต็มรถ
ทั้งสภาพถนนทำให้ใช้ความเร็วได้ไม่เต็มที่
แต่ละเที่ยวไม่ว่าไปหรือกลับจึงใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงจึงถึงปลายทางยิ่ง
ถ้าไปไกลถึงลำปาง
ก็ต้องตื่นมาขึ้นรถตีสี่ให้ทันมิฉะนั้นจะไปถึงลำปางค่ำ
เพลงเหนือสุดยอดในสยาม -
จากตลาดแม่สายไปยังบ้านเหมืองแดง สันผักฮี้ สันทราย ป่าแดงหลวงและอื่น
ๆ ในเขตตำบลเกาะช้าง หรือจากหน้าที่ว่าการอำเภอไปทางป่ายางเพื่อไปบ้านสันถนน
ต้องลุยโคลนในหน้าฝนอยู่กว่าสิบปีหลัง 2500 จึงจะมีถนนลาดยางทั้งนี้
รวมถึงถนนซอยเล็กซอยน้อยในบริเวณเกาะทรายอีกหลายสายด้วยอาจารย์ผ้างพลชัย
อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านสันถนนเมื่อราวสามสิบปีก่อนต้องปิดโรงเรียนในวันที่พาครูเดินลุยโคลนออกมาประชุมที่อำเภอ
ในหน้าฝนเพราะในวันนั้นไม่สามารถกลับโรงเรียนได้อีก ครูจากโรงเรียนอื่น
ๆ ทางซีกตะวันออกของอำเภอหลายคนมีสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน (เช่นบางรายซึ่งเลือกไปสอนที่
โรงเรียนป่าซางงามเพราะชื่อไพเราะดี แต่ไปแล้วหน้าฝนเหมือนติดเกาะ
ในขณะที่บางรายได้ครอบครัว เพราะการคมนาคมไม่สะดวก) วันประชุมครูตอนสิ้นเดือน
จึงเป็นวันแห่งการพบปะสังสรรค์ ระหว่างครูที่อยู่คนละตำบล และเป็นวันที่การเงินสะพัดอย่างแรงทั้งในระบบ
(เช่น สหกรณ์ฯ กลุ่มฯ) และนอกระบบ (เช่น ค่าแชร์ ค่าผ่อนรถ ค่าเงินกู้กวางเหลียง
ฯลฯ) วิถีเช่นนี้ ทำให้ครูแม่สายรู้จักกันอย่างทั่วถึงและเป็นที่รู้จักของคนนอกวงการ
ครูอีกจำนวนไม่น้อย เห็นได้ชัดว่าสภาพของการคมนาคมมีส่วนในความเป็นไปดังกล่าวไม่น้อยเลย
ครูแม่สายมีส่วนร่วมในงานการของอำเภอแม่สายมากมาย
หลายเรื่องที่คึกคักมากในช่วงสองทศวรรษหลัง
พ.ศ. 2500 คือ กีฬา ซึ่งมีทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล
และกรีฑาทุกปีบ่อยครั้งที่มีหน่วยราชการอื่น
ๆ ของอำเภอร่วมด้วย เช่น อำเภอ ด่าน และตำรวจ
(โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีสารวัตรใหญ่เป็นนักฟุตบอลชื่อ
สนาม คงเมือง) และบางปี มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมแม่สาย
กับทีมท่าขี้เหล็กเป็นเกมแห่งศักดิ์ศรีด้วยนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ความไม่
สะดวกของการคมนาคมไม่ใช่อุปสรรคใหญ่สำหรับชาวแม่สายในอดีต
หน้าตลาดแม่สาย |
8. ซึ่ง 1 กาลเวลาพาล่วงเลย
หน้าโรงเรียนบ้านแม่สาย (เก่า) ก่อน พ.ศ.2500
นอกจากรั้วโรงเรียนกับท้องร่องแล้ว
มีบ้านเพียงหลังเดียวคือบ้านของหมอจรัญ ตุลาธนะ
ผู้เคยเยี่ยมไข้และเยียวยาชาวแม่สายรุ่นอายุ
40 ขึ้นไป มานับไม่ถ้วนถัดโรงเรียนขึ้นไปทางเหนือ
มีอาคารไม้สองชั้นเก่า
ๆ มีมุขตรงกลางและมีบันไดขึ้นทั้งสองด้าน
อาคารนี้คือที่ว่าการกิ่งอำเภอซึ่งถูกทิ้งร้างเมื่อมีที่ว่าการอำเภอหลัง
ใหม่ที่ตลาดใหม่ถัดอาคารที่ว่านี้ไป
คือสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สาย
ซึ่งอาคารเดิมมีลักษณะเหมือนอาคารกิ่งอำเภอ
ตรงข้ามกับโรงพัก คือ โรงแรมร่มไทร
ซึ่งตั้งชื่อตามต้นไทรเก่าแก่ที่อยู่หน้าโรงแรม
หลังพ.ศ.2500 ประมาณเก้าหรือสิบปี
ต้นไทรต้นนี้ถูกล้มโดยเจ้าของโรงแรมคนใหม่
แต่หลังจากนั้นไม่นานนักผู้ที่สั่งตัดต้นไทรก็ถูกยิงตาย
โดยจับตัวมือสังหารไม่ได้และโรงแรมก็เปลี่ยนเจ้าของอีกครั้งหนึ่งในเวลาต่อ
มา
ชาวแม่สายอาวุโสหลายคนกล่าวว่าการล้มต้นไม้ใหญ่บางทีก็ไม่ควรทำ
เพราะทำให้ขึด
(เป็นเสนียดแก่ตัวเอง)
ถัดโรงพักขึ้นไป เป็นลำเหมืองแดงซึ่งแยกจากแม่น้ำสายที่หน้าถ้ำผาจมแล้วไหลอ้อมมาทางด้านเหนือของดอยเวาแล้วเลี้ยวลงใต้
ก่อนจะถึงโรงพักก็เลี้ยวไปทางตะวันออกตัดกับถนนพหลโยธินโดยมีสะพานซึ่งชาวแม่สายรุ่นเก่าเรียกว่า
ขัวก้อม ทอดข้ามลำเหมืองนี้ ลำเหมืองแดงตรงถัดโรงพักขึ้นไปนี้เป็นที่เล่นน้ำในเวลาเลิกพักของเด็ก
ๆ โรงเรียนบ้านแม่สายเป็นประจำ
ตรงที่ลำเหมืองแดงเลี้ยวไปทางตะวันออกนี้เอง
ฟากตรงข้ามกับโรงพักมีหินก้อนใหญ่ซึ่งมีโพรงลึก
อยู่ใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่งที่นี่คือ ถ้ำกบ ชาวแม่สายเชื่อว่ามี
เจ้าพ่อสิงสถิตอยู่
จึงสร้างศาลเจ้าพ่อถ้ำกบขึ้น
และมีรั้วรอบตรงมุมรั้วด้านใต้เป็นกระต๊อบของคนเฝ้าศาลซึ่งเป็นนักดนตรีพื้น
เมืองเป่าขลุ่ยได้พลิ้วทีเดียว
เวลาเย็นชายชราซึ่งรู้จักในนามลุงแสน
จะสะพายกระเพาะวัวไปบรรจุเหล้าโรงที่ซื้อจากโรงเหล้าฝั่งท่าขี้เหล็กของพม่า
มาขายปลีกแก่คอสุราทั้งหลายซึ่งบางทีก็คือนักดนตรีที่มาร่วมวงเล่นดนตรีด้วย
กันนั่นเอง
วันนี้สภาพทุกอย่างของศาลเจ้าพ่อถ้ำกบเปลี่ยนไปจนไม่มีร่องรอยเดิมหลงเหลือ
เลยรวมทั้งบรรดานักดนตรีทั้งหลายเหล่านั้นก็ราวกับระเหยหายไป
ถัดจากศาลเจ้าพ่อถ้ำกบไปคือทางเข้าวัดพระธาตุดอยเวา ซึ่งมีสะพานทอดข้ามลำเหมืองแดงก่อนเข้าสู่บริเวณวัด
ดอยเวาได้ชื่อมาจากแมงป่องช้างซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า แมงเวา บนยอดดอยมีเจดีย์เก่า
ๆ ซึ่งเชื่อกันว่ามีพระธาตุบรรจุอยู่ข้างใน มีบันไดที่ทำโดยขุดดินเป็นขั้น
ๆ กว้าง 4-5 เมตรตรงขึ้นไปจากทางเดินที่ทำต่อจากสะพานข้ามเหมืองแดง
ตัววิหารซึ่งอยู่ด้านเหนือของเชิงบันไดสร้างขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ.2494-95
แทนวัดชัยมงคลซึ่งถูกทิ้งให้เป็นวัดร้าง (จะกล่าวถึงภายหลัง) สองข้างบันไดขึ้นไปยังองค์พระธาตุมีต้นยางปลูกเรียงกันเป็นแนว
หลายต้นถูกเจาะและสุมไฟเอาน้ำยางไปใช้ลูกยางซึ่งมีปีกเวลาหล่นจะหมุนติ้วลงสู่ดิน
เด็ก ๆ เก็บมาโยนเล่นกันบ่อย ๆ
ภายหลังมีผู้ทำถนนสำหรับรถยนต์วนขึ้นไปถึงด้านหลังองค์พระธาตุปัจจุบัน
ถนนนี้ลาดยางตลอดเส้นทาง ถนนนำอะไรต่ออะไรขึ้นไปสถิตบนยอดดอยทีละอย่างสองอย่าง
จนเดี๋ยวนี้ดอยเวากลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มีสิ่งก่อสร้างตาม เรื่องต่าง
ๆ หลายเรื่อง (แม้กระทั่งพระนางสุพรรณกัลยา) นอกเหนือจากตำนานแมงเวาที่เป็นเรื่องเดิมเพียงเรื่องเดียวมาเป็นเวลานาน
โดยปกติ
วัดในภาคเหนือทั่วไปจะมีลานกว้างด้านหน้าเสมอ
เพื่อเป็นที่ชุมนุมคนเวลามีงานประเพณีของชาวพุทธต่าง
ๆ ในรอบปี หน้าวิหารวัดดอยเวาเคยมีลานกว้างเช่นว่านี้มาแต่แรก
ลานนี้กว้างไม่น้อยเลย
เพราะสามารถใช้เป็นที่เผาศพนักบิน
ที่นำเครื่องบินขนาดเล็กไปตกที่ป่าสักตรงบริเวณที่ตั้ง
สำนักงานที่ดินในปัจจุบันและถูกไปคลอกเสียชีวิตคาเครื่องวันนี้ลานนั้นยังมี
อยู่แต่ไม่ไช่ลานที่ว่างสำหรับกิจกรรมตามประเพณีแล้ว
หากกลายเป็นแผงลอยขายของซึ่งล้นมาจากสองฟากถนนจากสะพานถึงข้างวิหาร
ลานหน้าวัดได้กลายเป็นแหล่งทำรายได้ให้วัดจากค่าเช่าที่วันละไม่น้อยเลย
นอกจากนี้บรรยากาศโดยทั่ว ๆ
ไปของบริเวณวัดก็เป็นบรรยากาศของตลาดมากกว่าเป็นศาสนสถานไปเสียแล้ว
ที่ตั้งมูลนิธิกวงเม้งทุกวันนี้เคยเป็นป่าช้าที่
มีต้นไม้หนาแน่น
แม้แต่กลางวันก็ดูมืดครึ้มน่ากลัวจนเด็ก ๆ
ไม่กล้าเดินผ่านติดกับป่าช้าทางทิศเหนือเป็นที่ตั้งวัดชัยมงคล
ซึ่งต้องหันหลังให้ถนน
ทำให้ไม่สะดวกแก่การเข้าออกประกอบกับชุมชนขยายตัวมาอยู่ทั้งด้านเหนือและ
ด้านตะวันตกของวัดมากขึ้น
วันนี้จึงถูกยุบและมีวัดพระธาตุดอยเวาแทนส่วนป่าช้านั้น
มีการทำบุญล้างป่าช้าหลายครั้งก่อนจะใช้เป็นที่ตั้งมูลนิธิโดยเริ่มตั้งแต่
ไม่กี่ปีหลัง
พ.ศ.2490 ประมาณ พ.ศ.2500 หรือหลังจากนั้น ปี-สองปี มีลิเกคณะ
ไทยเมืองทอง
มาเช่าที่มูลนิธิแสดงลิเกครั้งละนานนับเดือน
จนพระเอกกลายเป็นขวัญใจแม่ยกเกือบทั้งเมือง
โรงหนังราชา2 |
ตรงข้ามมูลนิธิ เป็นที่ตั้งโรงราชา 2 ที่เหลือแต่โรง ไม่มีหนังฉายใต้ถุนเป็นที่ขายข้ามแรมฟืน
และข้าวซอยน้ำสู่ เมื่อ 30-40 กว่าปีก่อนเป็นโรงหนัง เฉลิมชัยของ
โกดัง หรือ เตี่ยกัง ชาวจีนไหหลำ ตัวอาคารทำด้วยไม้ มุงสังกะสีฝาเป็นไม้ฟาก
หน้าโรงเป็นลานดิน ซึ่งเป็นที่วางแผงลอยขายของ ไม่กี่เจ้าโรงหนังนี้คนจะแน่นเป็นพิเศษหากฉายหนังไทยที่นำแสดงโดยมิตร
ชัยบัญชา เพรชรา เชาวราษฎร์ ชนะ ศรีอุบล รสริน วิลาวัณย์ รัตนาภรณ์
อินทรกำแหง อมรา อัศวนนท์ เป็นต้น รองลงไปคือหนังอินเดีย หลัง พ.ศ.
2510 มาได้ระยะหนึ่งโรงหนังก็เปลี่ยนเจ้าของและเปลี่ยนรูปลักษณ์มาเป็นตึก
และเคยหยุดฉายหนังเปลี่ยนเป็นโรงบิลเลียร์ด สนุกเกอร์อยู่ช่วงหนึ่งด้วยก่อนที่จะปิดเงียบในระยะหลัง
ๆ มานี้
ฟากตะวันออกของถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงเอเชีย ตั้งแต่ปากถนนเหมืองแดงขึ้นไปเป็นที่ของพ่อค้าขาวจีนหลายตระกูล
ซึ่งไม่เคยย้ายไปไหนมากว่าห้าสิบปีแล้ว เช่น ร้านอาตุง ซึ่งเคยเป็นร้านอาหารด้วย
ร้านกลางเหลียง ซึ่งเป็นร้านขายหนังสือพิมพ์เจ้าเก่าที่สุดของอำเภอร้านซุ่ยกี่จั่น
คูเฮงเสง และซิงตงเซียมซึ่งขายยามาโดยตลอด ข้างร้านซิงตงเซียม มีซอยลงไปยังบ่อน้ำสาธารณะขนาดใหญ่
ชื่อ น้ำบ่อหลวง แหล่งน้ำที่สำคัญ ที่สุดของชาวแม่สายเมื่อสี่ทศวรรษถอยหลังไป
เลยบ่อน้ำนี้ไปในซอย จะพบลำเหมืองแดงข้ามลำเหมืองไปแล้วเลี้ยวซ้าย
คือตลาดแพร่ ซึ่งเคยมีตลาด และเคยเป็นฝั่งแม่น้ำสายซึ่งเคยเปลี่ยนทางเดินมาในอดีต
จริง ๆ แล้วบริเวณที่เรียกว่า เกาะทราย ทั้งหมด คือ อดีตทางเดินของน้ำสายและบริเวณที่น้ำแม่สายเคยท่วม
บริเวณเกาะทรายนี้ก่อนและหลัง พ.ศ. 2500 ไม่มาก เป็นบริเวณที่เปลี่ยวร้าง
ว่างเปล่ามีบ้านเรือนเป็นกระจุกเล็ก ๆ อยู่หลังแนวบ้านเรือนริมถนนพหลโยธิน
ถัดไปมักเป็นบ้านชาวไทขืน และไทลื้อทีข้ามฟากมาจากรัฐเชียงตุง และสิบสองปันนา
มาอาศัยตามแนวถนนที่เชื่อมระหว่างตลาดแพร่ กับไม้ลุงขน ที่แทรกปะปนอยู่ในหมู่บ้านเรือนทั้งของชาวไทยยวน
ไทขืน และไทลื้อ บริเวณนี้คือแหล่งค้าบริการทางเพศหลายแห่ง ซึ่งดูเหมือนจะยึดหัวหาดอยู่ได้นานหลายทศวรรษทีเดียว
ริมฝั่งแม่น้ำสาย วันนี้ จะมองเห็นแม่น้ำได้ชัด ต้องไปยืนบนสะพานจึงจะเห็น
เพราะถูกอาคารร้านค้าที่ปลูกเรียงราย บนตลิ่งบดบังจนเกือบหมดเมื่อครอบครัวของผู้เขียนมาอยู่แม่สายใหม่
ๆ ในปี 2490 แม่เคยพาไปดูน้ำแม่สายนองล้นตลิ่ง ออกมาท่วมบริเวณเกาะทราย
บางส่วน โดยยืนดูจาก หัวขัวเห็นน้ำแม่สาย สีน้ำตาล มีคลื่นลูกโต ไหลอย่างรุนแรง
และเร็ว ส่งเสียงดัง เมื่อกระทบกับเสาะสะพานไม้ สำหรับรถยนต์ ใกล้กับแนวสะพาน
เดิมทางตะวันออกเข้าใจว่า น้ำนองคราวนั้นคงทำให้สะพานพังเพราะหลังจากนั้น
ผู้เขียนไม่เคยเห็นสะพานไม้นั้นอีกเลย สะพานนี้ถูกสร้างแทน สะพานเหล็กที่ถูกอังกฤษทิ้งระเบิดเสียหายระหว่างสงคราม
และใช้งานมาจนถึงหลังสงคราม ได้ไม่กี่ปีก็พังทลายด้วยแรงน้ำหลากเป็นครั้งสุดท้าย
หลังจากนั้นชาวแม่สายและชาวท่าขี้เหล็กต้องรอนานสิบแปดปีจึงมีสะพานข้ามฟากอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้
ริมฝั่งแม่น้ำสาย ทั้งสองด้านของ หัวข้อ เป็นทางเดินเลียบฝั่งโดยตลอดทางตะวันตกหรือด้านต้นน้ำ
ไปสิ้นสุดที่ปากเหมืองแดง หน้าถ้ำผาจม ทางด้านนี้ใกล้ๆ กับ หัวขัว
เคยมีแพขนานรับส่งผู้คนและสัมภาระต่าง ๆข้ามฟากไปมาระหว่างแม่สาย
กับท่าขี้เหล็ก ชาวแม่สายเรียกบริเวณนี้ว่า ท่าเรือ ทางด้านตะวันออกทางเดินเลียบฝั่ง
เคยพาเราผ่านท่าน้ำ ที่มีชื่อเรียกหลายท่า ไปจนตรงข้ามโรงเหล้าฝั่งท่าขี้เหล็ก
ชื่อท่าน้ำเหล่านั้น ได้แก่ ท่าทราย ท่าล้อ และท่าต้นงิ้ว เป็นต้น
บ้านเรือนที่มีเรียงรายตามริมฝั่ง ตลอดทางด้านนี้ จะอยู่ถัดทางเดินมาทางใต้ทั้งสิ้น
ไม่เหมือนปัจจุบันนี้ ซึ่งให้ส่วนล่างของอาคาร ทำหน้าที่ เป็นตลิ่งคอนกรีตไปตลอดแนว
เช่นเดียวกับฟากที่เคยเป็นท่าเรือ วันนี้ บริเวณ ท่าเรือเดิม กลายเป็นร้านอาหารไปเสียแล้ว
ถนนไปถ้ำผาจม กลายเป็นตลาดชายแดนแม้แต่บนไหล่ดอยเวาก็มีบ้านเรือนงอกออกมาอย่างน่าหวาดเสียวเต็มไปหมดจนถึงหน้าถ้ำผาจม
ที่ถ้ำผาจมเองก็เต็มไปด้วยอาคารคอนกรีตรูปร่างหลากหลาย ที่เรียกชื่อรวม
ๆ กันว่า วัด หรือ อาราม หรือ สำนักสงฆ์ บริเวณปากเหมืองแดงที่เคยมีเฉพาะโรงสูบน้ำแรงต่ำ
ก็กลายเป็นชุมชนในอดีตชาวแม่สายภูมิใจในถ้ำผาจมของตนไม่น้อยเลย ดังที่เคยได้ยินคำอ้างอิงบ่อย
ๆ ว่า เพราะแม่สายมีถ้ำผาจมใครได้มาแม่สายแล้ว มักจะจมอยู่ที่แม่สาย
ไม่ยอมกลับภูมิลำเนาเดิม ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่า วันนี้เมื่อได้เห็นบริเวณถ้ำผาจมแล้ว
จะยังมีใครอยากอ้างข้อความเดิมอีกบ้าง
แม่น้ำสาย ตั้งแต่บริเวณถ้ำผาจมไปจนถึงท่าล้อ
เคยเป็นที่อาบน้ำและซักผ้าของผู้คนทั้งสองฟาก
ช่วงสงกรานต์
ท่าทรายและท่าล้อซึ่งอยู่ติดกันเนืองแน่นด้วยผู้คนที่ไปขนทรายและทำสงคราม
สาดน้ำกันในวันเน่า
(วันเนาว์)
ซึ่งสามารถยืนบนสะพานมองเห็นภาพแห่งความสนุกสนานได้อย่างครบถ้วนเนื่องจาก
ฝั่งแม่น้ำยังไม่ถูกรุกรานด้วยอาคารร้านค้าอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ถ้าบันทึกนี้ ไม่พูดถึงดอยตุงบ้างก็คงจะไม่สมบูรณ์ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้
ดอยตุงจะอยู่ในเขตอำเภออื่น แต่อดีตอันยาวนานของดอยตุงนั้นเคียงคู่มากับอำเภอแม่สายก่อน
พ.ศ.2510 เมื่อมีงานประเพณีเดือนหกเพ็ง (เพ็ญเดือนหกเหนือ หลังมาฆบูชา
1 เดือน) พุทธศาสนิกชนจำนวนนับไม่ถ้วนจะพากันเดินขึ้นดอยระยะทางประมาณ
9 กิโลเมตรสู่พระธาตุดอยตุง ซึ่งอยู่ถัดลงมาจาก ผารุ้ง ยอดสูงสุด
(ประมาณ 1,500 เมตรเศษ) หลังจากมีถนนต้นไม้บนดอยตุงถูกทำลายลงมาก
ถนนได้ลบเส้นทางเดินเท้าออกไปหลายช่วงจนเส้นทางเดินเท้าขาดเป็นช่วง
ๆ ต่อกันไม่ติด และอาจไม่เหลือร่องรอยไว้ให้คนที่อยากเดินอีกเลยก็ได้
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จย่า ได้ทำให้ดอยตุงฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
และพระตำหนักดอยตุงก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ดอยตุงมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งท่องเที่ยว
นอกเหนือไปจากปูชนียสถานสำคัญของชาวพุทธที่เป็นชื่อเสียงจากอดีต
ก่อน พ.ศ. 2500 ชาวแม่สายรับข่าวสารจากส่วนกลางและที่อื่น ๆ จากวิทยุเป็นหลักฐาน
วิทยุทำให้เราทราบว่า ใครเป็นรัฐบาล และทราบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากร
สิบแปดล้านด้วยเพลงปลุกใจ ( เข้าใจว่าเป็น ) ของ หลวงวิจิตรวาทการ
วิทยุทำให้เรารู้จักนักร้องที่มีชื่อเสียงของยุคสมัยนั้น หลายคนเช่น
ชาญ เย็นแข สมยศ ทัศนพันธุ์ คำรณ สัมปุณณานนท์ ลัดดา ศีวรนันท์ สมศรี ม่วงศรเขียว เบญจมินทร์
และสุนทราภรณ์ เป็นต้น
บางที หนังขายยานำเพลงที่ร้องโดยนักร้องเหล่านี้มาด้วย
แลเวลาหนังเลิกมักได้ยินเพลงชื่ออะไรไม่รู้แต่มีคำร้องว่าดึกแล้วละหนาขอ
ลากลับไปก่อน
จำใจจากจำจรด้วยความอาวรณ์และอาลัยแม้นถึงวันดี
ถ้าโอกาสมีจะกลับมาใหม่
ขอคุณพระรัตนตรัยบันดาลให้ท่านเป็นสุขเทอญฯ ฟังแล้วหัวใจของเด็ก ๆ
บ้านนอกอดจะอาลัยจริง ๆ
ไม่ได้นอกจากนี้วิทยุทำให้เราได้ยินวิทยุจีนแดง
(เรียกแบบชาวบ้านสมัยนั้น)
โจมตีจักรวรรดินิยมอเมริกาเป็นครั้งคราว
ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า
ระหว่างจักรวรรดินิยมกับคอมมิวนิสต์ซึ่งดูเหมือนยักษ์ในโปสเตอร์ที่รัฐบาล
ไทย
ทำออกเผยแพร่นั้น ใครน่ากลัวกว่ากัน
หนังขายยา ซึ่งเป็นความบันเทิงยอดนิยมช่วงสิบปีก่อนถึง พ.ศ.2500
นั้น นำภาพยนตร์ทุกรสชาติมาฉาย ที่ได้รับคะแนนสูงมักเป็นภาพยนตร์ลูกทุ่งตะวันตก
หรือ คาวบอย ซึ่งพระเอกหลายเรื่องขี่ม้ามาช่วยนางเอก หรือผู้ที่ถูกโจรรังแก
(ผู้ที่เคยชมหนังคาวบอยเก่า ๆ รุ่นนี้ โตขึ้นพบคำว่า พระเอกขี่ม้าขาว
ในหนังสือพิมพ์จะเข้าใจความหมายทันที) รองลงไปเป็นหนังสงครามและหนังอินเดีย
(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งคำว่า นาร้ายณ์ น่ารายณ์
ถูกนำไปประยุกต์ใช้เรียกคนที่น้าปรุเพราะฝีดาษแทนคำว่า หน้าลาย) ดาราหนังอินเดียที่โด่งดังมากในยุคนั้นคือมหิปาล
นีรูปา รอย และมีนากุมารี เป็นต้น
เมื่อสร้างอำเภอที่ตลาดใหม่เสร็จใหม่ ๆ เคยมีโรงหนังซึ่งดัดแปลงเป็นโรงละครด้วย
และมีละครไปแสดงหลายเรื่องเท่าที่เคยดูและจำชื่อเรื่อง (กับเนื้อเรื่องนิดหน่อย)
ได้ มีเรื่องเลือดสุพรรณกับพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งมีเพลงน้ำตาแสงใต้
เป็นเพลงเอก และชาญ เย็นแขเคยมาร้องเพลงกับคณะละครเรื่องหนึ่งด้วย
บางปีมีวงดนตรีของนักร้องชื่อดังบางคน เดินสายมาจนถึงแม่สายด้วยเช่น
วงของสมยศ ทัศนพันธุ์ ขวัญใจครอบครัวของผู้เขียน เป็นต้น หลังปี 2500
มีวงดนตรีจากเชียงใหม่ไปเล่นในงานมูลนิธิเป็นประจำ โดยเริ่มจากวง
ซีเอ็ม และหลังจากนั้นเป็นวง ศรีสมเพชร ชาวแม่สายเองก็พยายามมีวงเล็ก
ๆ ของตัวเองจนได้วงหนึ่งเหมือนกันโดยครูชวน ปัญจขันธ์ จากสังกัดการประถมศึกษา
และอาจารย์ดิเรก ไชยดวง แห่งโรงเรียนดรุณราษฎร์เป็นนักดนตรีสำคัญของวง
ผู้เขียนเองก็เคยเป็นสมาชิกวงนี้อยู่ระยะหนึ่งก่อนจะย้ายไปอยู่เชียงใหม่ในปี
2509 วงดนตรีวงนี้รับใช้งานของครู และอำเภอเป็นหลักอยู่ปีละหลายงาน
ความบันเทิงอีกรูปแบบหนึ่ง
ที่ร่วมยุคร่วมสมัยกับหนัง ละคร และดนตรี
คือ รำวง ซึ่งแพร่หลายขึ้นมาจากภาคกลาง บางงานรำกันบนลานดิน
โดยไม่ต้องมีเวที
แต่ส่วนใหญ่มีเวที ลีลาจังหวะที่ฮิตมากก่อนถึงปี 2500 หลายปี คือ
คองก้า ซึ่งมีคำร้องวรรคหนึ่งว่า คองก้า ๆ ๆ คองก้า
สบัดหน้าสบัดไหล่
โดยผู้รำจะต้องสบัดหน้า และสะบัดไหล่ตามเนื้อเพลงด้วย
ความนิยมรำวงแพร่หลายมากจนมีคณะรำวงที่มีนางรำจากหมู่บ้านเดียวกัน
หรือตำบลเดียวกันออกเดินสายข้ามอำเภอข้ามจังหวัดหลายคณะ หลังพ.ศ.
2500 คณะที่มีชื่อเสียงมากเป็นพิเศษในภาคเหนือ คือ คณะอ้อยหนึ่ง
และอ้อยสอง
จากอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ซึ่งมีกองเชียร์ที่เล่นดนตรีได้ดี
เพลงที่ใช้ส่วนมากเป็นเพลงลูกกรุงที่
สุเทพวงศ์กำแหง ร้องบันทึกแผ่นเสียงเผยแพร่
นอกจากนั้นมีเพลงลูกทุ่งจากเสียงร้องของชัยชนะ
บุณยโชติ และก้าน แก้วสุพรรณ เป็นต้น ส่วน คองก้า
นั้นถูกลืมไปเลยบางปี
รำวงคณะ บ้านอ้อย เคยยึดหัวหาดตามงานต่าง ๆ
ทั้งงานวัดและงานอำเภออยู่ในแม่สายเป็นแรมเดือนก็มี
เสน่ห์ของรำวงคณะบ้านอ้อยนั้น
ทำให้หนุ่มแม่สายหลายคนลงทุนเดินเกือบสิบกิโลเมตรจากแม่สายไปเที่ยวงานในเขต
ตำบลเกาะช้างเพราะติดใจสาวรำวงบางคน
หลังจากนั้นไม่นานมีคณะแม่คาวโตนสตาร์จากบ้านแม่คาวโตน อำเภอพาน
จังหวัดเชียงรายเป็นอีกคณะหนึ่งที่มีชื่อเสียงและมาแบ่งตลาดไปจากคณะบ้าน
อ้อย
ซึ่งครองแชมป์อยู่หลายปี ชายชาวแม่สายวัยเลยสี่สิบปีขึ้นไป
หลายคนล้วนเคยเป็นลูกค้าขาประจำของรำวงสองคณะนี้มาด้วยกันทั้งนั้น
นอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น นานๆทีผู้เขียนจะได้พบ ช่างซ่อ จากเชียงใหม่หรือลำพูนไปซอในงานวัด
หรืองานบวช บางคณะมี ซอเก็บนก ด้วย ในวัยเด็กผู้เขียนไม่สามารถรับรู้ถึงความงามหรือสาระที่อยู่ในกระบวนการของเพลงพื้นบ้านประเภทนี้ได้เลย
ต่อเมื่อได้เป็นครูดนตรีแล้ว จึงรู้ซึ้งแก่ใจว่า ซอ คือมรดกอันล้ำค่าของชาวล้านนา
และไม่สงสัยเลยว่า ทำไม ครั้งหนึ่งมารดาเคยคิดจะเรียนเป็น ช่างซอ
9. บทสรุป
บันทึกฉบับนี้ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนด้วยเรื่องราว
ด้วยรายละเอียดอีกหลายอย่าง
และด้วยนามของบุคคลสำคัญๆในอดีต
เมืองเล็กๆนี้คนแทบจะรู้จักกันหมดทั้งตำบลแม่สาย
ไม่ว่าใครก็เป็นใครคนหนึ่ง ( somebody ) ที่มีคนรู้จักหลายคน
ไม่จำกัดเฉพาะชนชั้นระดับปกครอง
เช่นนายอำเภอ ปลัดอำเภอ นายด่าน ผู้กอง ผู้หมวด
คนในอาชีพอื่นๆเช่น
หมออนามัย ครู บุรุษไปรษณีย์ ช่างเสริมสวย นักมวย
คนขับรถเมล์เขียว
คนขายไอศกรีม นักเลงพนัน เซียนสนุกเกอร์ ขอทาน
หรือแต่มือปืนรับจ้าง
และโสเภณี
คนเหล่านี้ล้วนมีคนรู้จักและมีส่วนเขียนประวัติศาสตร์ของแม่สาย
มากบ้างน้อยบ้างด้วยกันทั้งนั้น
บันทึกนี้แม้ไม่สามารถบรรจุนามและบทบาทของทุกคนได้แต่ก็ตระหนักในความเป็น
ส่วนหนึ่งของแม่สายของบุคคลเหล่านั้น
วันนี้ แม่สายเป็นอำเภอมาได้ครึ่งศตวรรษเศษแล้ว ถ้าเป็นคนก็อยู่เลยวัยทอง
เป็นคนอาวุโสที่มากด้วยประสบการณ์ ผลของการพัฒนาโดยเน้นการค้าขายชายแดน
ซึ่งมีความหละหลวมในระบบการควบคุมให้อยู่ในกรอบกฎหมายอยู่มาก ทำให้แม่สายสูญเสียหลายสิ่งที่มี คุณค่า ทางจิตวิญญาณ
ให้แก่ความเห็นแก่ มูลค่า ในลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยม
ซึ่งบางเรื่องอาจไม่เกิดขึ้นหากยังมี สติ และมีสำนึกเพื่อส่วนรวมและเพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าเสียดาย
การศึกษาอดีตที่ถูกต้อง ไม่ใช่ศึกษาเพื่อปลุกผีให้ฟื้นคืนชีพ หรือฟื้นฝอยหาตะเข็บ
แต่ศึกษาเพื่อทราบบทเรียนว่า มีข้อผิดพลาดใด ๆ หรือไม่ที่ไม่สมควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีก
และเพื่อทราบว่าสิ่งใดดำเนินมา ดีแล้วและสมควรดำเนินต่อไป
สังคมหนึ่ง ๆ น่าจะเป็นเหมือนรถยนต์ที่ดีสักคันหนึ่ง คือมิได้มีแต่วงล้อแห่งความเจริญก้าวหน้าอย่างเดียวก็พอแล้ว
หากยังต้องมีพวงมาลัยไว้ควบคุมทิศทาง และมีห้ามล้อไว้กันรถวิ่งออกลู่นอกทาง
ไปชนสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดความเสียหายอีกด้วย และ นี่คือสังคมที่มีสติ