กรมอุทยานแห่งชาติฯ 13 หมูป่า เน็ตฟิกซ์ ร่วมบวงสรวงเจ้าแม่นางนอน เตรียมผลักดันเป็นอุทยานฯระดับโลก



กรมอุทยานแห่งชาติฯ 13 หมูป่า เน็ตฟิกซ์ ร่วมบวงสรวงเจ้าแม่นางนอน เตรียมผลักดันเป็นอุทยานฯระดับโลก

      (5 พ.ย.65) ที่บริเวณหน้าถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานพิธี บวงสรวงเจ้าแม่นางนอน โดยมีนายสิทธิชัย เสรีส่งแสง นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ และนายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดี นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่กู้ภัย ผู้แทนจากทีมผลิตรายการโทรทัศน์ บริษัท Netflix ตัวแทนกลุ่มนักฟุตบอล 13 หมูป่า มีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม
 
     นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า จากเหตุการณ์เมื่อปี 2561 ได้เกิดปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย 13 ชีวิตที่ติดในถ้ำหลวง ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 สมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี่ แม่สาย ได้เข้าไปท่องเที่ยวในถ้ำหลวง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศใน ช่วงนั้นมีพายุดีเปรสชั่นเกิดฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พื้นที่ถ้ำหลวงมีการสะสมน้ำใต้ดินเป็นปริมาณมาก ทำให้ภายในถ้ำหลวง
มีน้ำท่วมตามเส้นทางภายในถ้ำ ทั้ง 13 ชีวิตจึงได้ผลัดหลงและติดอยู่ภายในถ้ำใน
 
    เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นการระดมสรรพกำลัง การรวบรวมศาสตร์ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง การใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เข้ามาร่วมในการค้นหา และด้วยความเชื่อ ความศรัทธา เหล่าผู้มีจิตศรัทธา และความฝันของผู้คนในละแวกนั้น จึงได้นิมนต์ครูบาบุญชุ่ม หรือ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร พระเกจิชื่อดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธหลายประเทศ ทั้งไทย ลาว เมียนมา จีน และภูฏาน เคยจำพรรษาในถ้ำหลวงเป็นเวลานานมาแล้ว ซึ่งหลังเดินทางมาถึง ถ้ำหลวง เมื่อค่ำคืนวันที่ 29 มิถุนายน 2561 เพื่อทำพิธี “ถอนขึด” ช่วย 13 ชีวิตกลับบ้าน กล่าวประโยควาจาสุดศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้ทุก ๆ คนในเหตุการณ์มีความหวังว่า "เด็ก ๆ ยังมีชีวิตอยู่ อีก 2 - 3 วัน จะได้เจอ" ด้วยปาฏิหาริย์แห่งศรัทธาการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน จึงเป็นพลังให้บังเกิดผลในที่สุดก็สามารถค้นหาทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตได้จนกลายเป็นข่าวดีที่คนทั้งประเทศรอคอย จนทำให้ความเชื่อและความศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมรวมจิตใจในการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยทั้ง 13 ชีวิตได้ปลอดภัยครบทุกคน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) โดยอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ได้จัดพิธีบวงสรวงเจ้าแม่นางนอน อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการไหว้บวงสรวงเจ้าแม่นางนอน และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
 
    ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 23.6 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างกลุ่มอาคารบริการและสิ่งก่อสร้างพร้อมครุภัณฑ์ ได้แก่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว, อาคารห้องน้ำสาธารณะ, อาคารบริการนักท่องเที่ยว, อาคารปฐมพยาบาล ป้อมยาม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ปูดอกข้อแดง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี ปลายปีนี้ นอกจากนี้ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว จะมี ลาน UNITED AS ONE, ลานธรณีศึกษาและพรรณไม้ดอยนางนอน และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณหน้าถ้ำหลวงด้วย 
 

     สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติฯ นั้น ได้มีดำเนินสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดพื้นที่และตรวจสอบพื้นที่มีความเหมาะสมต่อการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ 12,000 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลเวียงพางคำ ตำบลโป่งผา ตำบลโป่งงาม และตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแนวเขตภูมิสารสนเทศ (shape file) เพื่อจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้กรมการปกครอง ตรวจสอบแนวเขต ก่อนเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา 

     สำหรับผลการรับฟังความคิดเห็น ให้สรุปข้อมูลส่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา เมื่อครบถ้วนแล้ว จะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ลงนามถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จากนั้น สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้วจึงดำเนินการประกาศต่อไป และเพื่อผลักดันให้วนอุทยานถ้ำหลวง–ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานธรณี สู่การเป็นอุทยานธรณีระดับยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2568 นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับเมืองเชียงรายให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก จังหวัดเชียงราย ได้กำหนดแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาที่โดดเด่นและมีคุณค่าเป็นอุทยานธรณีจังหวัดเชียงราย โดยมีพื้นที่ 2,031 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

     เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ในการกำหนดให้ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน วนอุทยานถ้ำหลวง–ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อยกระดับความสำคัญของสถานที่ดังกล่าวที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของสถานที่ดังกล่าวด้วย.

Popular Posts